กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเผยไม่กินอาหารเช้าอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน พบพฤติกรรมการกินอาหารเช้าของกลุ่มวัยทำงาน ร้อยละ 59.55 กินอาหารเช้าเป็นประจำ ร้อยละ 24.09 กินอาหารเช้าเกือบทุกวัน เด็กวัยเรียนไม่กินอาหารเช้า ร้อยละ 30 โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิงไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 52
ผลสำรวจพฤติกรรมการกินอาหารเช้าพบว่า ร้อยละ 88.2 เป็นกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 20 -60 ปี ซึ่งกินอาหารเช้าเป็นประจำ ร้อยละ 59.55 กินอาหารเช้าเกือบทุกวัน ร้อยละ 24.09 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเพศชายและเพศหญิง พบว่าเพศชายกินอาหารเช้าทุกวันมากกว่าเพศหญิง คือ ร้อยละ 64 ในขณะที่เพศหญิงร้อยละ 57.24 และส่วนใหญ่กินข้าวเป็นอาหารเช้าเป็นประจำร้อยละ 50.45 และดื่มชา กาแฟ แทนข้าว ร้อยละ 25 รองลงมา คือนมจืดพร่องมันเนย ร้อยละ 13.64 สาเหตุส่วนหนึ่งที่กลุ่มวัยทำงานไม่ได้รับประทานอาหารเช้า คือการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบส่งผลให้การเริ่มต้นระบบเผาผลาญของร่างกายช้าลง ร่างกายจึงรู้สึกหิวตลอดเวลา และกินอาหารในมื้อถัดไปมากยิ่งขึ้นกินจุบกินจิบ และมักเลือกเมนูอาหารที่ให้พลังงานสูงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
การอดอาหารเช้ายังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน เนื่องจากคนที่รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำ จะลดภาวะผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินหรือภาวะดื้อของอินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้ถึง ร้อยละ 35 -50 และผลการวิจัยจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจในอเมริกายังพบว่าการรับประทานอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองและโรคหัวใจอีกด้วย
Advertisements
Advertisements
0 ความคิดเห็น