ไอโอดีน (Iodine) เป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ รวมถึงอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน ขนาดของไอโอดีนที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันแตกต่างกันไปตามเพศ อายุ และสถานภาพของร่างกาย (เช่น ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร) เด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบจะต้องการไอโอดีนในปริมาณสูง (ประมาณ 110-130 ไมโครกรัม) ในผู้ใหญ่ปริมาณไอโอดีนที่ควรได้รับในแต่ละวันมีค่าเฉลี่ย 150 ไมโครกรัม
โดยความต้องการจะเพิ่มมากขึ้นอีกในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร (โดยเฉลี่ย 250 ไมโครกรัม) ผลิตภัณฑ์ไอโอดีนอยู่ในรูปเกลือโซเดียมหรือเกลือโปแตสเซียมของไอโอดีน มีจำหน่ายในรูปแบบยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสูตรอาหารสำหรับทารก ไอโอดีนในรูปแบบยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ใช้เป็นยาสำหรับยับยั้งการดูดซับไอโอดีน กำมันตรังสีในผู้ที่สัมผัสกัมมันตภาพรังสี
แหล่งของไอโอดีน
ไอโอดีนเป็นสารอาหารที่พบได้มากในสาหร่ายทะเล อาหารทะเล (เช่น ปลาทะเล กุ้ง) ผลิตภัณฑ์จากนม ธัญพืช (เช่น ข้าวโพด) ไข่ ผัก และผลไม้ ปริมาณไอโอดีนในอาหารแตกต่างกันไปตามปริมาณไอโอดีนในแหล่งเกษตรกรรมหรือแหล่งปศุสัตว์ นมแม่เป็นแหล่งไอโอดีนที่สำคัญสำหรับทารก แหล่งสำคัญของไอโอดีนอีกแหล่งคือเกลือสมุทรและเกลือเสริมไอโอดีน อาหารบางชนิดสามารถยับยั้งการขนส่งไอโอดีนเข้าสู่ ต่อมไทรอยด์ได้ เช่น ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี ไชเท้า คะน้า
ผลของไอโอดีนต่อสุขภาพ
ไอโอดีนจำเป็นต่อการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย เช่น การสังเคราะห์โปรตีน การทำงานของเอนไซม์บางชนิด และเป็นฮอร์โมนที่ควบคุม เมตาบอลิซึมของร่างกาย ฮอร์โมนไทรอยด์มีความสำคัญต่อการสร้างระบบกระดูกและระบบประสาทในตัวอ่อนในครรภ์และทารก สตรีมีครรภ์หรือทารกในระยะแรกที่ขาดไอโอดีนจะเห็นผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของตัวอ่อนและทารกอย่างถาวร เช่น เกิดภาวะปัญญาอ่อนนอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์เนื่องจากการขาดไอโอดีน ภาวะดังกล่าวจะเกิดเมื่อร่างกายได้รับไอโอดีนต่ำกว่า 10-20 ไมโครกรัมต่อวัน
โดยอาการแรกเริ่มของภาวะขาดไอโอดีนคือคอพอก ในสตรีมีครรภ์การขาดไอโอดีนอย่างมากและต่อเนื่องจะให้ตัวอ่อนในครรภ์ผิดปกติโดยเกิดภาวะครีตินิสม์ (cretinism) ซึ่งประกอบไปด้วยอาการปัญญาอ่อน หูหนวก กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวหดเกร็ง การเจริญเติบโตหยุดชะงัก การเจริญทางเพศล่าช้า และมีความผิดปกติทางร่างกายและระบบประสาทอื่น ๆ สำหรับในทารกและเด็กจะทำให้พัฒนาการทางระบบประสาทผิดปกติ เด็กอาจมีความฉลาดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เกิดภาวะสมาธิสั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดไอโอดีน ได้แก่ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีน และผู้ที่รับประทานอาหารที่ยับยั้งการดูดซึมไอโอดีน
การได้รับไอโอดีนมากเกินไปทำให้เกิดกลุ่มอาการเช่นเดียวกับภาวะขาดไอโอดีน โดยทำให้เกิดอาการคอพอก ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะ ต่อมไทรอยด์อักเสบและมะเร็งต่อมไทรอยด์ ภาวะพิษเฉียบพลันจากไอโอดีนพบได้ไม่บ่อยโดยเกิดจากการรับประทานไอโอดีนมากในปริมาณหน่วยกรัม อาการ ได้แก่ ปาก คอ กระเพาะอาหารไหม้ มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา
ไอโอดีนสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาหลายชนิด เช่น ยาต้านไทรอยด์ (เช่น methimazole) ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูง การรับประทานยาโปแตสเซียมไอโอไดด์จะมีปฏิกิริยากับยาที่ทำให้โปแตสเซียมสูง เช่น ยาความดันกลุ่ม ACE inhibitor หรือยาขับปัสสาวะบางชนิด
การรับประทานไอโอดีนจากอาหารและเกลือสมุทรเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายตามปกติ หากแพทย์ไม่ใช่ผู้สั่งยา ไม่ควรซื้อหรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนเองเนื่องจากอาจเสี่ยงต่อภาวะได้รับไอโอดีนเกินได้
บทความจาก...... ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก / HealthToday
Advertisements
Advertisements
0 ความคิดเห็น