ฟันตกกระ เกิดมากเกินไป ก็เกิดโทษได้ Photo By www.thesun.co.uk
เชื่อหรือไม่ว่าฟันของคนเรานั้นสามารถตกกระได้ ซึ่งสาเหตุของฟันตกกระมาจาก “ฟลูออไรด์” แร่ธาตุที่ช่วยให้ฟันแข็งแรงและไม่ผุนี่แหละค่ะ
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าสรุปแล้วฟลูออไรด์ดีหรือไม่ดี เป็นพระเอกหรือผู้ร้ายกันแน่ คำตอบก็เหมือนกับทุกสิ่งบนโลกใบนี้ที่ต้องทำต้องใช้แต่พอดี น้อยเกินไปก็ไม่เป็นประโยชน์ มากเกินไปก็เกิดโทษได้ เช่นเดียวกับฟันตกกระที่เกิดจากการใช้ฟลูออไรด์ที่มากเกินไปนั่นเอง
ฟลูออไรด์พบมากในกระดูกที่กำลังเจริญเติบโตและฟันที่กำลังก่อตัวของเด็ก โดยช่วยทำให้สารเคลือบฟันน้ำนมและฟันแท้แข็งขึ้นก่อนที่ฟันจะขึ้น และยังช่วยให้สารเคลือบฟันของฟันแท้ที่ขึ้นมาแล้วแข็งขึ้นอีกด้วย ฟลูออไรด์ที่ใช้เพื่อป้องกันฟันผุสามารถใช้ได้ 2 รูปแบบ คือ
• ฟลูออไรด์ที่ใช้ในระบบทั่วร่างกาย คือ การรับประทานอาจจะโดยการเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำหรืออาหารเพื่อมุ่งหวังให้ฟลูออไรด์เข้าไปอยู่ในฟันขณะที่ฟันกำลังมีการเจริญเติบโตนั่นคือฟันที่ยังไม่ได้ขึ้นในช่องปากของเรานั่นเอง
• ฟลูออไรด์เฉพาะที่ คือ การใช้ฟลูออไรด์ไปสัมผัสกับผิวฟันโดยตรง จึงใช้กับฟันที่ขึ้นมาในช่องปากของเราแล้ว เช่นการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ การใช้ยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ การขัดฟันและเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์ เป็นต้น
สำหรับปัญหาของการใช้ฟลูออไรด์ที่พบมากที่สุด คือ การเกิดฟันตกกระ
ปัญหาฟันตกกระ
ฟันตกกระ คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นในชั้นเคลือบฟัน เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ปริมาณมากเกินไปในช่วงระยะการพัฒนาของหน่อฟันที่เจริญเติบโตอยู่ในกระดูกขากรรไกร (ที่ยังอยู่ใต้เหงือก) ทำให้เกิดการสะสมของแร่ธาตุในชั้นผิวฟันมากกว่าปกติ ชั้นผิวฟันจึงมีองค์ประกอบที่ผิดปกติไป มีลักษณะตั้งแต่เป็นจุดสีขาวขุ่นๆ เหมือนสีชอล์ค สังเกตเห็นได้ยากง่ายแตกต่างกันไป หรือพบผิดปกติเล็กน้อยเป็นจุดขาวประปราย มีเส้นขาวบางๆ หรือเป็นหย่อมขาวๆ ใกล้กับปลายหน้าตัดของฟันหน้าหรือยอดแหลมของฟันหลังเหมือนหิมะปกคลุมยอดเขา ไปจนกระทั่งเป็นริ้วเป็นแถบเหลือง-น้ำตาล บางทีก็เป็นหลุมเป็นร่องบนผิวฟันจนฟันขรุขระไปเลยก็มี
ฟันตกกระส่วนใหญ่จะพบในฟันแท้ เนื่องจากหน่อฟันน้ำนมสร้างขณะอยู่ในครรภ์มารดาจึงไม่มีโอกาสได้รับฟลูออไรด์เกินขนาดเพราะฟลูออไรด์ไม่สามารถซึมผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ฟันที่จะตกกระจากฟลูออไรด์ได้ก็คือ...ฟันที่กำลังสร้างอยู่ในกระดูกขากรรไกร ไม่ใช่ฟันที่ขึ้นมาในช่องปากแล้ว เราจะสังเกตเห็นว่าฟันตกกระตั้งแต่เริ่มงอกพ้นเหงือกออกมาเลยไม่ใช่ว่าฟันขึ้นมานานแล้วเพิ่งเป็น แบบนี้ไม่ใช่ฟันตกกระ นอกจากนี้การแปรงฟัน
ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ก็ไม่สามารถทำให้ฟันที่ขึ้นมาในช่องปากแล้วตกกระได้เช่นกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากฟันตกกระที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความสวยงามและบุคลิกภาพ ที่เป็นจุดขาวๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ค่อยเป็นปัญหามากนักแต่ในรายที่เป็นสีน้ำตาลจะดูเหมือนฟันไม่สะอาดหรือฟันผุ โดยเฉพาะถ้าเกิดกับฟันซี่หน้าที่เห็นได้ชัด วิธีแก้ไขมีตั้งแต่การเสริมแร่ธาตุเฉพาะที่แบบทาการขัดแต่งผิวฟัน การอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ไปจนถึงการทำวีเนียร์หรือครอบฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะแนะนำเป็นรายๆ ไปตามความเหมาะสม
แต่ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ฟันแข็งและเปราะ เนื่องจากฟลูออไรด์ทำให้ฟันแข็งแรง เมื่อได้รับมากเกินไปจึงทำให้ฟันแข็งมากจนเปราะง่ายเหมือนกับแก้ว พบว่าผิวฟันของผู้ที่เป็นฟันตกกระเยอะๆ จะเป็นหลุมขรุขระ เพราะผิวฟันแตกหลุดร่อนไป แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ฟันของเราเท่านั้นแต่เกิดขึ้นกับกระดูกในร่างกายของเราด้วยเพียงแต่เรามองไม่เห็น ในคนที่เป็นมากๆ จะมีผลกระทบต่อกระดูก เช่นกระดูกซี่โครง กระดูกเชิงกราน ข้อเข่า กระดูกขา ทำให้กระดูกหนา เปราะ หัก ตลอดจนขาโก่ง กระดูกผิดรูปร่าง จนถึงขั้นพิการเลยก็มี
ในประเทศไทยพบฟันตกกระได้ถึง 5.8% ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำที่เอามาใช้รับประทาน แสดงให้เห็นว่าสาเหตุหลักมาจากการที่ร่างกายได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปจากการรับประทานนั่นเอง
Photo By fluoridation.com
ในประเทศไทยมีสายแร่ฟลูออไรด์ผ่านจากภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ตามแนวพรมแดนด้านตะวันตกในพื้นที่เกิดปัญหาภัยแล้งหรือมีน้ำผิวดินปนเปื้อนสารเคมีจากมลพิษ ทำให้ประชาชนหันไปใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำดิบในการทำเป็นน้ำประปาหมู่บ้านหรือประปาชุมชน ซึ่งมักพบว่าน้ำบาดาลมีฟลูออไรด์เจือปนในปริมาณปานกลางถึงสูงสุด จึงพบชาวบ้าน 8,500 ชุมชน เกิดโรคฟันตกกระและโรคเกี่ยวกับกระดูกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร กาญจนบุรี ราชบุรี ไล่มาจนถึงนครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา อุตรดิตถ์ และสงขลา ดังนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวจะต้องระมัดระวังการใช้น้ำบริโภคในเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 12 ปี
ส่วนเด็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเขตเสี่ยงดังกล่าวก็ต้องระมัดระวังเรื่องของการใช้ฟลูออไรด์เสริมในรูปแบบต่างๆ ที่ต้องระวังมากคือการรับฟลูออไรด์เสริมแบบรับประทาน ได้แก่ยาเม็ดยาน้ำเสริมฟลูออไรด์ในเด็กเล็ก ขอให้ปรึกษาทันตแพทย์เป็นรายๆ ไปเลยนะคะ ย้ำว่าขอให้ปรึกษาหมอฟันก่อนให้คุณหมอฟันตรวจดูสภาพปากและฟันของน้องและซักประวัติก่อน อย่าไปซื้อหรือรับยาเม็ดฟลูออไรด์เสริมมา
ช่วงอายุสำคัญที่ทำให้เด็กเสี่ยงฟันตกกระที่ฟันแท้ซี่หน้าบนคือช่วงอายุ 1-2 ขวบครึ่ง เพราะเป็นช่วงที่ฟันแท้ ซี่หน้าบนกำลังสร้างอยู่ในกระดูกขากรรไกร นั่นเป็นเหตุผลที่เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบควรใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในปริมาณน้อย แค่แตะๆ ที่ปลายขนแปรงก็พอ ขอย้ำว่าไม่ได้ห้ามใช้ แต่ให้ใช้ในปริมาณน้อย ซึ่งขนาดที่ทันตแพทย์แนะนำนั้นคำนวณมาแล้วว่าปลอดภัยจากการเกิดฟันตกกระในฟันแท้ถึงแม้ลูกจะกลืนไปบ้างก็ตาม เพราะจริงๆ แล้วฟลูออไรด์ก็ช่วยป้องกันให้ฟันของลูกน้อยไม่ผุง่ายค่ะ
บทความจาก...... healthtoday.net
Advertisements
Advertisements
0 ความคิดเห็น