อดอาหารเช้า ระวังอัลไซเมอร์ ดูแลสมองก่อนสาย

04:51


ชีวิตคนในเมืองใหญ่ เมืองหลวง เมืองกรุง ที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา การอดอาหารเช้าถือเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากจะทำให้ไม่ต้องเสียเวลาตระเตรียมอาหารเช้าให้มากความ ยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่า อาหารเช้าเป็นเรื่องเล็กน้อย รวบไปกินมื้อเที่ยงไปเลยก็ได้ น้ำหนักจะได้ลดลงไปอีกนิด
แต่ในความเป็นจริง การอดอาหารเช้าไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายรู้สึกไม่สดชื่น ขาดความกระตือรือร้น ความจำไม่ดี ฯลฯ ยังเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม! ขณะที่วิทยาการทางการแพทย์เจริญรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น แต่ถ้าเราไม่รีบดูแลร่างกาย (สมอง) เสียแต่วันนี้ ในอนาคตข้างหน้า เราอาจจมอยู่ในภาวะสมองเสื่อม …ที่ไม่ได้หมายความเพียงแค่อาการ “หลงลืม” แต่ “ไม่เหลือความทรงจำ″ อยู่เลย ฟังดูเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้วทุกอย่างจะย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้น เช่น ลืมแม้กระทั่งวิธีการเดิน การเคี้ยวอาหาร การกลืนอาหาร ฯลฯ และที่สุดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อีก 3 ปี ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่อีก 8 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมรับมือเสียแต่วันนี้

ทั้งนี้ รายงานขององค์การโรคอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศเมื่อปี 2553 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมากกว่า 35 ล้านคน อยู่ในเอเชียอาคเนย์ 2.4 ล้านคน

พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม อธิบายให้ฟังถึงสถานการณ์ของผู้ป่วยสมองเสื่อมในปัจจุบันว่า จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยมี 10% ของประชากรทั้งหมด และ 10% ของประชากรผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม นั่นคือ ผู้ป่วยสมองเสื่อมในประเทศไทยมี 1% ของประชากรทั้งหมด (กว่า 60 ล้านคน) เท่ากับประมาณ 600,000 กว่าคน ขณะที่ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบสัดส่วนของผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 12 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 17 ในอีก 8 ปีข้างหน้า หมายความว่า อีก 8 ปีข้างหน้าเราจะมีจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมมากขึ้นตามไปด้วย สาเหตุของสมองเสื่อมมีด้วยกันหลายปัจจัย ทั้งจากสมองโดยตรงคือ เนื้อสมองตาย ซึ่งปัจจุบันพบคนไข้ที่สมองเสื่อมด้วยสาเหตุนี้ 50-60% ของคนไข้ทั้งหมด หนึ่งในโรคที่เกิดจากสมองเสื่อมที่รู้จักกันดีคือ “อัลไซเมอร์” เกิดจากการ “เสื่อมสลาย” ของสมอง เพราะเซลล์ที่เคยมีอยู่มากมายในสมองเพื่อทำหน้าที่เรื่องการเรียนรู้การจดจำ สูญเสียความสามารถนั้นไป ในคนไข้ที่เป็นอัลไซเมอร์ พื้นที่ที่คุมเรื่องความรู้ความจำความสามารถจะสูญเสียความสามารถนั้นไป ทำให้สูญเสียความสามารถในหลายเรื่องๆ

ปัจจัยภายนอกที่ก่อให้เกิดโรคสมองเสื่อม เช่น หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองผิดปกติ ถ้าเส้นเลือดที่คุมแขนขาเสียก็จะเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ แต่ถ้าเป็นเส้นเลือดที่คุมในส่วนของพื้นที่ที่ควบคุมความรู้ความจำความสามารถ ก็จะเกิดอาการสมองผิดปกติ นอกจากนี้ สาเหตุจากความดันโลหิต เบาหวาน สูบบุหรี่ อ้วน ไขมันสูง และยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การติดเชื้อ การขาดสารอาหาร ฯลฯ

อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ก็จริง คนที่มีพ่อและแม่เป็นอัลไซเมอร์จะมีโอกาสที่จะเป็นอัลไซเมอร์สูงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นแน่นอน เพราะอาจมียีนส์ตัวอื่นที่กดไว้

พญ.สิรินทรเล่าเพิ่มเติมว่า ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยมากจะปรากฏอาการความจำสับสน เช่น ใส่เข็มขัด 2 เส้น ใส่บราเซีย 3 ตัว ใส่รองเท้าคนละข้าง หรือใส่ถุงเท้าข้างเดียว ฯลฯ โดยความจำในส่วนของใกล้ๆ จะค่อยๆ หายไป เช่น จำลูกตัวเองไม่ได้ จำไม่ได้ว่าตัวเองเคยแต่งงาน คือความจำจะถอยกลับไปยังจุดเริ่มต้นของชีวิตเรื่อยๆ “ถ้าได้ยาตั้งแต่ต้นๆ จะสามารถชะลออาการให้คงที่อยู่ได้นาน หลายรายดูจากภายนอกแทบไม่ออก เพราะยังทำอะไรได้ แต่ลูกๆ และคนดูแลใกล้ตัวต้องเตือนหลายครั้ง แต่อัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หาย” การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อีกวิธีการหนึ่งคือ การกระตุ้นการทำงานของสมอง คุณหมอสิรินทร บอกว่า ในครอบครัวเองต้องให้ความเข้าใจ และสิ่งที่สำคัญคือ “ให้คนไข้ได้ทำกิจกรรมในสังคม” เช่น พาไปเจอพี่เจอน้อง “คนไทยชอบสูตรสำเร็จ มักจะถามว่าจะให้คนไข้ทำอะไรดี เราบอกไม่ได้ เพราะคนไข้แต่ละคนมีกิจกรรมไม่เหมือนกัน บางคนเย็บผ้าได้ บางคนชอบทำกับข้าว ฉะนั้น เราแนะนำได้เพียงให้คนไข้ทำสิ่งที่คุ้นเคย เพื่อให้ยังทำได้ต่อไปให้นานที่สุด แต่ต่อไปข้างหน้ามันก็จะค่อยๆ เสียไป” แม้ว่าอาการสมองเสื่อมจะพบในคนสูงอายุ คือ อายุตั้งแต่ 60 ปีเป็นต้นไป แต่การจะเริ่มต้นดูแลสุขภาพกาย สุขภาพสมองเสียแต่วันนี้ย่อมเป็นการดี ทั้งนี้ คุณหมอสิรินทรบอกว่า 3 ขั้นตอนของการดูแลรักษาและพัฒนาสมองเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมว่า ขั้นแรกคือ เริ่มจากการกินดีอยู่ดี “สมองไม่เหมือนกับร่ายกายในส่วนอื่นที่จะมีสต๊อกเลือดที่หล่อเลี้ยงตลอดเวลา แต่ขึ้นอยู่กับการส่งเลือดมาเลี้ยงโดยตรง ฉะนั้น สมองจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดที่มาเลี้ยงพอเพียง น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำจะมีผลต่อสมอง ทำให้อารมณ์ความคิดของเรา ในคนอายุมาก เวลาหิวมากๆ ไม่ใจสั่น แต่จะง่วง เพราะมันจะปิดสวิตช์เลย ฉะนั้นในคนสูงอายุถ้าน้ำตาลตกก็จะซึมกะทือ “ฉะนั้น การอดอาหารเช้าสำคัญมาก เพราะระดับน้ำตาลที่น้อยลงทำให้เซลล์สมองบางตัวหยุดทำงาน โดยที่เราไม่รู้ว่ามันหยุดไปแล้ว” นอกจากปริมาณน้ำตาลแล้ว สมองยังต้องการออกซิเจนเยอะมาก คือ 1 ใน 4 ของออกซิเจนที่ร่างกายได้รับจะไปเลี้ยงสมอง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมคนเราเมื่อสมองขาดออกซิเจนนานกว่า 5 นาที มีโอกาสกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ว่ากันว่า การฝึกจิต-นั่งสมาธิ ช่วยให้ความจำดี เรื่องนี้คุณหมอเฉลยว่า คนเราจะจำได้ดีหรือจำไม่ได้ดีนั้น ?จิต? เป็นสำคัญ ถ้าจิตถูกครอบงำด้วยเรื่องอื่นที่เป็นทุกข์ ความเสียใจ ความคับแค้น ย่อมไม่มีสมาธิที่จะจดจำสิ่งใด ฉะนั้น ควรฝึกทำให้จิตดี จิตเป็นบวก ลดละเลี่ยงสิ่งที่ทำลายจิต ถ้าเราตั้งใจที่จะจำ สมองจำได้ อย่างตัวเลข7 หลัก ของเบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งตัวเลข 13 หลักของเลขประจำตัวประชาชน “ทำไมเบอร์โทรศัพท์จึงกำหนดให้เป็นเลข 7 หลัก นั่นเพราะ นี่คือความสามารถของสมองโดยไม่ต้องพยายามเลย เพียงแต่ว่าแต่ละคนมีเทคนิคการจำที่ต่างกัน บางคนจำเป็น ?ตัวเลข? บางคนจำเป็น ′ภาพ′ ซึ่งในสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม จะใช้ตัวเลขเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกเพื่อ ?พัฒนา? สมองให้กับผู้ป่วยร่วมกับวิธีการอื่นๆ ทั้งการเล่นเกมด้วย “เรื่องการนอนก็สำคัญ การนอนน้อยไม่มีงานวิจัยที่ไหนยืนยันว่าทำให้สมองเสื่อม แต่การนอนน้อยมีผลต่อความจำแน่นอน แม้ว่าจะอดนอนเพื่อติวหนังสือไปสอบ จำได้ แต่จำได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ มันไม่สามารถเป็นความจำถาวรได้” “ยา″ ช่วยรักษาโรค แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าเราจะเริ่มดูแลสุขภาพกาย สุขภาพสมองเสียแต่วันนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

Advertisements

Advertisements

You Might Also Like

0 ความคิดเห็น

SUBSCRIBE NEWSLETTER

Get an email of every new post! We'll never share your address.

Popular Posts

Flickr Images

Blog Archive